นายกฯกัมพูชาจ่อเยือนไทย จับตาถกปม“ฮุบเกาะกูด”

319

 

ไปติดตามสถานการณ์ของกัมพูชากันบ้าง ล่าสุด มีรายงานข่าวว่า นรม.ฮุน มาเนต มีแผนจะเยือนไทยในต้น ก.พ.67 พร้อมกับหารือแนวทางการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม และ การรื้อฟื้นการเจรจาเกี่ยวกับพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลในอ่าวไทย (OCA) หวั่นประเด็นอ้างสิทธิเหนือเกาะกูด เรื่องนี้น่าสนใจไปติดตามกันครับ

12 มกราคม 2567 เพจ โฆษกกระทรวงกลาโหม รายงานว่า นรม.กัมพูชาจะเยือนไทยเพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจและปัญหาเขตแดนไม่ชัดเจน

โดยระบุรายละเอียดว่า นสพ.Phnom Penh Post และนสพ.Khmer Times รายงานเมื่อ 11 ม.ค.67 ว่า นายกรัฐมนตรี  ฮุน มาเนต มีแผนจะเยือนไทยในต้น ก.พ.2567 พร้อมกับหารือแนวทางการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม และการค้าชายแดนด้าน จ.สระแก้ว

และการรื้อฟื้นการเจรจาเกี่ยวกับพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลในอ่าวไทย (OCA) เพื่อแก้ไขปัญหาเขตแดนไม่ชัดเจน เพื่อส่งเสริมโอกาสทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงด้านพลังงาน
.
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ฮุน มาเนต แสดงความพอใจกับความร่วมมือในการขยายตลาดและการค้ากับไทย ซึ่งตั้งเป้ามูลค่าการค้าทวิภาคีปีละ 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และขอให้ไทยเพิ่มการลงทุนในกัมพูชามากขึ้น
.
สำหรับกรมศุลกากรของกัมพูชาระบุว่า…ไทยเป็นคู่ค้าสำคัญ อันดับ 4 ของกัมพูชา รองจากจีน สหรัฐฯ และเวียดนาม ห้วง ม.ค.-ก.ย.66 ทั้งสองประเทศมีมูลค่าการค้ารวมกว่า 2,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 18 จากห้วงเดียวกันของเมื่อปี 2565

สำหรับปัญหาพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลในอ่าวไทย (OCA) นั่น เคยมีรายงานในเวบไซต์ energynewscenter.com ว่า หากย้อนอดีตไปทำความเข้าใจกับปัญหานี้ จะเห็นว่าพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชานั้น เกิดขึ้นจากการที่กัมพูชาชิงประกาศเขตไหล่ทวีปในอ่าวไทย เมื่อปี 2515 ก่อนที่ไทยจะประกาศในปี 2516 ซึ่งต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธิ ขีดเส้นล้ำเข้ามาทับเส้นของอีกฝ่าย ทำให้เกิดเป็นพื้นที่ทับซ้อนกันกว่า 26,000 ตร.กม.

ซึ่งเมื่อมีข้อพิพาทเกิดขึ้น สิทธิสัมปทานที่ทั้งไทยกับกัมพูชาให้กับบริษัทเอกชนด้านสำรวจและผลิตปิโตรเลียม จึงยังไม่มีใครสามารถเข้าไปดำเนินกิจกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมได้เลย

นอกจากนี้ในเรื่องการอ้างสิทธิเหนือเกาะกูดเป็นอีกประเด็นที่มีการกล่าวถึงมาตลอด โดยในเวบไซต์ thaipublica.org ได้เคยระบุเรื่องนี้ไว้ว่า กัมพูชาประกาศเขตไหล่ทวีปของตนเอง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 1970 (พ.ศ. 2513) และอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 1972

โดยอาศัยหลักเขตแดนทางบกหลักที่ 73 เป็นจุดตั้งต้นจากนั้นลากเส้นตรงไปทางตะวันตกค่อนลงไปทางใต้เล็กน้อยผ่านเกาะกูดถึงประมาณกลางอ่าวไทยแล้วหักลงใต้เกือบสุดอ่าวไทยแล้วหักขึ้นไปทางตะวันออกเฉียงเหนือโอบล้อมเกาะภูกว๊อกแล้วไปบรรจบเส้นเขตแดนกัมพูชา-เวียดนาม

ประเด็นเรื่องเกาะกูดยังมีความคลุมเครืออยู่ ในเอกสารการประกาศไหล่ทวีปปรากฏว่า มีการลากเส้นผ่านกลางเกาะกูด เป็นการแสดงเจตนาอ้างอำนาจอธิปไตยเหนือบางส่วนของเกาะกูด เจ้าหน้าที่ฝ่ายกัมพูชาเคยอ้างระหว่างการเจรจากับฝ่ายไทยเนืองๆ ว่าเกาะกูดเป็นของกัมพูชาครึ่งหนึ่ง แต่หากพิจารณาลงไปในรายละเอียดตามแผนที่แนบท้ายแล้วจะพบว่า เส้นที่กัมพูชาอ้างว่าเป็นเขตไหล่ทวีปนั้นได้เว้นเกาะกูดเอาไว้ และในแผนผังแนบท้ายบันทึกความเข้าใจปี 2544 ได้มีการเว้นเส้นที่กัมพูชาอ้างว่าเป็นเขตแดนทางทะเลในลักษณะที่เป็นตัว U เว้าอ้อมเกาะกูด ทำให้ฝ่ายไทยตีความว่า กัมพูชาไม่ได้อ้างอำนาจอธิปไตยเหนือเกาะกูด

ข้อโต้แย้งอีกประการหนึ่งของฝ่ายไทยคือ เกาะกูดนี้ถูกระบุเอาไว้สนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ปี ค.ศ. 1907 ชัดเจนแล้วว่าอยู่ในเขตไทย

ทั้งเวลาประเทศต่างๆ มีปัญหาเขตแดน ก็จะใช้เลือกวิถีทางที่ระงับข้อพิพาทได้ 2 ทางใหญ่ ๆ คือ 1.ใช้กลไกตามกฎหมายและระบบยุติธรรมระหว่างประเทศ เช่น ศาลกฎหมายทะเลระหว่างประเทศ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ
2.การเจรจา กัน ซึ่งปัจจุบันทั้งไทยและกัมพูชา ใช้วิธีการนี้อยู่

แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ก็ยังวางใจไม่ได้ เกรงว่า กัมพูชา จะนำเรื่องขึ้น ศาลโลกอีก และหากฝ่ายไทย ตามเกมไม่ทัน

หากเจอแบบเขาพระวิหาร อีก ก็ยุ่งเลยครับ