รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ฉลุย!!! จ่อสร้างสะพานข้ามไป”เวียงจันทน์”

479

ในขณะที่ความร่วมมือโครงการรถไฟความเร็วสูงระหว่างมาเลเซียกับจีนส่อมีปัญหา แต่โครงการความร่วมมือด้านรถไฟความเร็วสูงไทย – จีน มีความคืบหน้าไปด้วยดี แม้มีความล่าช้าไปบ้าง โดยล่าสุด นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายไทย และนายนิ่ง จี๋เจ๋อ (Ning Jizhe) หัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายจีน เป็นประธานประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย – จีน ครั้งที่ 24 เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมแชงกรี – ลา กรุงเทพมหานคร

 

 

 

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ บอกว่า ผลการประชุมสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

 

  1. ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพฯ – หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา) แบ่งงานก่อสร้างออกเป็น 14 ตอน คือ ตอนที่ 1 สถานีกลางดง – ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร เริ่มดำเนินการก่อสร้างไปเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม ปี 2560 โดยมีวิศวกรจีนเป็นที่ปรึกษาควบคุมงานอยู่ในพื้นที่ก่อสร้างด้วย ขณะนี้มีความก้าวหน้าตามลำดับ การตรวจสอบคุณภาพและผลงานเป็นที่น่าพอใจ ตอนที่ 2 ช่วงสีคิ้ว – กุดจิก ระยะทาง 11 กิโลเมตร ฝ่ายจีนได้จัดส่งแบบรายละเอียดให้ฝ่ายไทย ซึ่งที่ปรึกษาของไทยได้ตรวจสอบแบบและส่งความเห็นให้ฝ่ายจีนแก้ไข คาดว่าจะดำเนินการประกวดราคาในเดือนสิงหาคม 2561 และเริ่มการก่อสร้างในเดือนพฤศจิกายน 2561 ส่วนที่เหลืออีก 12 ตอน จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ๆ ละ 6 ตอน ฝ่ายจีนจะส่งมอบแบบรายละเอียดทั้ง 2 กลุ่ม ให้ไทยภายในเดือนมิถุนายน 2561 ซึ่งไทยต้องใช้เวลาในการตรวจสอบแบบรายละเอียดและเสนอความเห็นให้จีน เช่น การออกแบบอาคารสถานีที่ไทยต้องการให้มีเอกลักษณ์ในรูปแบบของสถาปัตยกรรมไทย

 

นายนิ่ง จี๋เจ๋อ (Ning Jizhe) หัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายจีน

 

 

 

คาดว่าจะดำเนินการ ประกวดราคากลุ่มแรก จำนวน 6 ตอน ได้ประมาณเดือนกันยายน 2561 เริ่มการก่อสร้างประมาณเดือนมีนาคม 2562 และดำเนินการประกวดราคากลุ่มที่ 2 จำนวน 6 ตอน ประมาณเดือนพฤศจิกายน 2561 เริ่มการก่อสร้างประมาณเดือนเมษายน 2562

 

  1. โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพฯ – หนองคาย (ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา – หนองคาย) ระยะทาง 350 กิโลเมตร คงเป็นไปตามหลักการเดิม คือ ไทยจะดำเนินการเองทั้งในส่วนของการศึกษาความเหมาะสมและการออกแบบรายละเอียดโครงการ โดยมีจีนเป็นที่ปรึกษา ซึ่งฝ่ายจีนเห็นด้วยและขอมีส่วนร่วมในการดูแบบรายละเอียดและตัวรถ ทั้งนี้ ไทยจะเร่งดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียดโครงการให้แล้วเสร็จภายในปี 2561 เริ่มก่อสร้างภายในปี 2562 และเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จเปิดให้บริการได้พร้อมกับโครงการฯ ระยะที่ 1

 

  1. การเชื่อมโยงทางรถไฟช่วงหนองคาย – เวียงจันทน์ ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบในหลักการเกี่ยวกับการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ เพื่อใช้เป็นสะพานสำหรับรถไฟความเร็วสูง (ขนาดทางมาตรฐาน) และรถไฟทางคู่ (ขนาดทาง 1 เมตร)

 

  1. การเจรจาสัญญางานระบบรถไฟความเร็วสูงและการฝึกอบรม จะเร่งเจรจาร่วมกัน เพื่อให้ได้ข้อสรุปภายในเดือนสิงหาคม 2561

 

  1. วิศวกรควบคุมงาน ระยะแรกใช้วิศวกรควบคุมงาน จำนวน 460 คน เป็นวิศวกรจีน 50 คน และวิศวกรไทย 410 คน สำหรับค่าใช้จ่ายของวิศวกรไทย ฝ่ายจีนเป็นผู้รับผิดชอบ โดยมีสมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทยเป็นผู้คัดเลือกวิศวกรไทยที่มีคุณสมบัติ เพื่อดำเนินการต่อไป

 

 

 

ก็ต้องติดตามกันต่อไปสำหรับโครงการนี้ และเชื่อว่า ผลกระทบจากลงทุนของจีนในมาเลเซีย จะอาจจะทำให้จีนยอมผ่อนปรนลดเงื่อนไขบางประการ ก็อยู่ที่ฝ่ายไทย จะใช้โอกาสนี้ให้เป็นประโยชน์หรือไม่