ครม.ไฟเขียวลุย”แลนด์บริดจ์” -เปิดใช้ปี 257

226
มาดูความคืบหน้าโครงการแลนด์บริดจ์ ชุมพร-ระนอง มูลค่า 1 ล้านล้านบาท กันบ้าง ล่าสุด  ครม.ไฟเขียวลงทุนโครงการนี้แล้ว  ลั่น มีความเหมาะสมในการลงทุนทั้งทางตรงและทางอ้อม    และจะช่วย GDP ของไทยโต  5.5% ต่อปี คาดประมูลปี 2568 และเปิดบริการ ปี 2573 เรื่องนี้น่าสนใจไปติดตามกันครับ
ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)   16 ต.ค. 2566   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบหลักการโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (โครงการแลนด์บริดจ์)  ชุมพร-ระนอง
และ  ให้กระทรวงคมนาคมดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากนักลงทุนต่างประเทศ (Road Show) ในการพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์เพื่อนำมาประกอบในการจัดทำร่างเอกสารเชิญชวนผู้ลงทุนในการร่วมลงทุนโครงการ (RFP) ต่อไป
สำหรับรูปแบบการพัฒนาโครงการ   ประกอบด้วยท่าเรือน้ำลึก 2 ฝั่งทะเล และโครงข่ายเชื่อมโยงระบบราง มอเตอร์เวย์ และทางท่อ ดังนี้
                                          1)    ท่าเรือน้ำลึกฝั่งทะเลอันดามัน ที่แหลมอ่าวอ่าง อำเภอราชกรูด  จังหวัดระนอง ออกแบบให้สามารถรองรับสินค้าได้ 20 ล้าน TEUs ขนาดร่องน้ำลึก 21 เมตร
                                          2)    ท่าเรือน้ำลึกฝั่งอ่าวไทย ที่แหลมริ่ว อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร รองรับสินค้าได้ 20 ล้าน TEUs ขนาดร่องน้ำลึก 17 เมตร
                                          3)    เส้นทางเชื่อมโยงท่าเรือทั้ง 2 ฝั่ง มีระยะทางประมาณ 90 กิโลเมตร ประกอบด้วย
                                          ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ขนาด 6 ช่องจราจร โดยเป็นอุโมงค์ 3 แห่ง ระยะทางอุโมงค์ประมาณ 21 กิโลเมตร
                                          ทางรถไฟขนาดราง 1.435 เมตร (Standard Gauge) จำนวน 2 ทาง โดยเป็นอุโมงค์ 3 แห่ง ระยะทางอุโมงค์ประมาณ 21 กิโลเมตร ออกแบบเพื่อรองรับการขนส่งตู้สินค้า 2 ชั้นบนแคร่ (Double Stack)
                                          ทางรถไฟขนาดราง 1.0 เมตร (Meter Gauge) จำนวน 2 ทาง โดยเป็นอุโมงค์ 3 แห่ง ระยะทางอุโมงค์ประมาณ 21 กิโลเมตร เพื่อเชื่อมต่อกับระบบโครงข่ายทางรางหลักของประเทศ
                                                และ พื้นที่สำหรับวางท่อขนส่งน้ำมันสำเร็จรูปและแก๊สธรรมชาติ    เพื่อสนับสนุนการขนส่งน้ำมันและแก๊สธรรมชาติทางท่อในพื้นที่ของโครงการ
                                          4)    การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์หลังท่าโดยการถมทะเลเพื่อพัฒนากิจการสนับสนุนท่าเรือ
 โดย โครงการแลนด์บริดจ์ (ชุมพร-ระนอง) ประมาณการวงเงินลงทุนโครงการทั้งหมด 1,001,206.47 ล้านบาท
และการวิเคราะห์ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจสำหรับโครงการตามแนวทางการวิเคราะห์โครงการลงทุนขนาดใหญ่ซึ่งพิจารณาทั้งผลประโยชน์ทางตรงและทางอ้อม ซึ่งสรุปได้ว่าโครงการแลนด์บริดจ์มีความเหมาะสมในการลงทุนทั้งทางตรงและทางอ้อม มีระยะเวลาคืนทุนปีที่ 24
นอกจากนี้ การพัฒนาโครงการจะทำให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ จำนวน 280,000 ตำแหน่ง โดยแบ่งเป็นจังหวัดระนอง จำนวน 130,000 ตำแหน่ง จังหวัดชุมพร 150,000 ตำแหน่ง และรวมทั้งเป็นส่วนช่วยทำให้ GDP ของประเทศไทยมีอัตราการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ประมาณการโดย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ 4.0% ต่อปี เป็น 5.5% ต่อปี
สำหรับ   รูปแบบการลงทุนในโครงการแลนด์บริดจ์จะเป็นการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership หรือ PPP) ซึ่งเป็นการให้สิทธิแก่เอกชนลงทุนในการก่อสร้างและการบริหารจัดการเป็นระยะเวลา 50 ปี โดยกำหนดให้ภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุนโครงการทั้งโครงการ ประกอบด้วย ท่าเรือ ทางรถไฟขนาด 1.435 เมตร และมอเตอร์เวย์ รวมถึงการพัฒนาพื้นที่หลังท่า
โดยแผนการดำเนินโครงการ  จะคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน ช่วงเดือน เมษายน – มิถุนายน 2568   จากนั้น จะเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติลงนามในสัญญา  ในเดือน กรกฎาคม – สิงหาคม 2568   และ จะดำเนินการก่อสร้างโครงการแลนด์บริดจ์   กันยายน 2568 – กันยายน 2573    พร้อม เปิดให้บริการ  ตุลาคม 2573
ครับ    แลนด์บริดจ์ เป็นโครงการที่มีความสำคัญต่อไทย และเส้นทางการเดินเรือของโลก  เนื่องจากจะช่วย   ลดระยะเวลาการขนส่ง    จากที่ต้องผ่านช่องแคบมะลากา จาก 9 วัน เหลือ 5 วัน ทำให้ประหยัดต้นทุนในการขนส่งมหาศาล    และ จะเป็นประตูการค้าเชื่อมต่อ ระหว่างสหภาพยุโรป, ตะวันออกกลาง, อินเดีย, บังกลาเทศ, เวียดนาม, จีน  ญึ่ปุ่น เกาหลีใต้ และอาเซียน
ดังนั้น หากโครงการนี้สำเร็จลุล่วง   นอกจากจากจะทำให้ เศรษฐกิจของไทยมีขนาดใหญ่ขึ้นแล้ว ยังทำให้ประเทศไทยมีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ของโลกในฐานะเส้นทางการเดินเรืออีกเส้นทางหนึ่งของโลก  ครับ