“เวียดนาม”ปล่อยดาวเทียมผลิตเองที่ญี่ปุ่น ลั่นเตรียมสร้างศูนย์อวกาศ ปี 66

484

 

ไปที่เวียดนามกันบ้าง ล่าสุด ดาวเทียม Nano Dragon ของศูนย์อวกาศแห่งชาติเวียดนาม ได้ถูกปล่อยสู่วงโคจรที่ญี่ปุ่น เช้าวันที่ 9 พ.ย.64 โดยเวียดนาม เผยสุดภาคภูมิใจ พร้อม ยันสร้างโดยนักวิทยาศาสตร์เวียดนาม ลั่นเตรียมสร้างศูนย์อวกาศ ในปี 2566 (2023) และ จะสร้างดาวเทียมขนาดใหญ่ขึ้นไปอีก เรื่องนี้น่าสนใจไปติดตามกันครับ

9 พฤศจิกายน 2564 สำนักข่าว vnexpress รายงานว่า Nano Dragon ดาวเทียมขนาดเล็กที่สร้างโดยศูนย์อวกาศแห่งชาติเวียดนาม (VNSC) ได้ถูกปล่อยสู่วงโคจรจากญี่ปุ่นเมื่อเช้าวันอังคารที่ 9 พ.ย.64

โดยมันถูกปล่อยบนจรวด เอพซิลอน-5 (Epsilon 5) จากศูนย์อวกาศอุชิโนอุระ (Uchinoura) ในจังหวัด คาโงชิมะ (Kagoshima )โดย องค์กรสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA)

จรวดดังกล่าวบรรทุกดาวเทียมอีกแปดดวงที่ผลิตในญี่ปุ่น

ด้าน นาย วู ฮอง นัม (Vu Hong Nam) เอกอัครราชทูตเวียดนาม ประจำญี่ปุ่น กล่าวว่า มันเป็น ความสำเร็จในขั้นต้นที่น่าภาคภูมิใจมาก สำหรับศูนย์อวกาศแห่งชาติเวียดนาม (VNSC) และเป็นก้าวสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมอวกาศของเวียดนาม

สำหรับ ดาวเทียม นาโน ดราก้อน เป็นดาวเทียมคิวบ์แซทชั้นนาโน ที่มีน้ำหนักประมาณสี่กิโลกรัม ซึ่งประกอบด้วยโมดูลขนาดเล็ก หลายโมดูล

 

ดาวเทียม Nano Dragon ของศูนย์อวกาศแห่งชาติเวียดนาม ได้ถูกปล่อยสู่วงโคจรที่ญี่ปุ่น เช้าวันที่ 9 พ.ย.64/photo credit: JAXA’s YouTube channel

การวิจัย ออกแบบ และประกอบ เสร็จสิ้นในเวียดนามโดยนักวิทยาศาสตร์ของศูนย์อวกาศแห่งชาติเวียดนาม (VNSC)

โครงสร้างทางกลทั้งหมด วงจรจ่ายไฟ และวงจรเสริมบางส่วนผลิตในเวียดนามด้วย แต่การขาดโครงสร้างพื้นฐานในเวียดนามทำให้ดาวเทียมต้องผ่านการทดสอบการสั่นสะเทือน การกระแทก และสุญญากาศทางความร้อนที่สถาบันเทคโนโลยีคิวชูในประเทศญี่ปุ่น

ด้าน ฟัม อัน ตวน (Pham Anh Tuan) ผู้อำนวยการทั่วไปของศูนย์อวกาศแห่งชาติเวียดนาม ( VNSC ) อธิบายว่า เรือแต่ละลำส่งสัญญาณที่มีข้อมูลเกี่ยวกับประเภทและขนาดของเรือ ในปัจจุบันเวียดนามมีเพียงสถานีรับสัญญาณภาคพื้นดิน เมื่อเทคโนโลยีนี้ประสบความสำเร็จ เราสามารถปล่อยดาวเทียมได้มากขึ้น เพื่ออัพเดทสัญญาณจากเรือในน่านน้ำเวียดนามอย่างต่อเนื่อง

โดย Nano Dragon ได้รับการออกแบบให้อยู่ในวงโคจรอย่างน้อยหกเดือน แม้ว่า ศูนย์อวกาศแห่งชาติเวียดนาม (VNSC ) คาดการณ์ว่าจะใช้เวลาสองปี

ผู้อำนวยการทั่วไปของศูนย์อวกาศแห่งชาติเวียดนาม ยังกล่าวอีกว่า ศูนย์อวกาศเวียดนามจะถูกสร้างขึ้นในปี 2566 ที่นิคมอุตสาหกรรมหว่า หลาก ไฮเทคพาร์ค (Hoa Lac Hi-Tech Park )ในฮานอย และจะมีการสร้างดาวเทียมขนาดใหญ่ขึ้น เมื่อมีโครงสร้างพื้นฐานทางเทคนิคอยู่ที่นั่น

พร้อมระบุว่า จะมีศูนย์ประกอบและทดสอบดาวเทียมที่มีน้ำหนักมากถึง 200 กก. และดาวเทียมขนาดเล็กอย่าง NanoDragon ก็สามารถทดสอบในเวียดนามได้เช่นกัน

รายงานข่าว ระบุอีกว่า ในปี 2562 ญี่ปุ่นได้เปิดตัว MicroDragon น้ำหนัก 50 กก. ของเวียดนามสู่อวกาศ ใช้เพื่อสังเกตแนวชายฝั่งของเวียดนาม ประเมินคุณภาพน้ำ ค้นหาแหล่งทรัพยากรการประมง และตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงเพื่อรองรับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ตรวจจับเมฆปกคลุมและละอองลอย รวบรวมสัญญาณเซ็นเซอร์บนพื้นดิน และส่งสัญญาณไปยังสถานีต่างๆ บนโลก

โดย เวียดนาม ได้ส่งดาวเทียม PicoDragon ซึ่งเป็นดาวเทียมดวงแรกที่สร้างโดยบุคคลากรเวียดนามเองทั้งหมด ขึ้นสู่อวกาศในปี 2556 หลังจากเปิดตัวดาวเทียมอีก 4 ดวงที่ผลิตโดยบริษัทต่างชาติก่อนหน้านี้

ครับ การปล่อยดาวเทียม Nano Dragon ขึ้นสู่ห้วงอวกาศนับเป็นก้าวย่างสำคัญของเวียดนาม ในการเป็น 1 ในผู้นำด้านเทคโนโลยีดาวเทียมในอาเซียน

ซึ่งกิจการด้านอวกาศ จะมีส่วนสำคัญในการความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี เศรษฐกิจของประเทศ และยกระดับการพัฒนาของประเทศ ต่างๆ

ดังนั้นแล้ว กิจการด้านอวกาศ ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝัน หรือ ต้องรอให้ถนนลูกรังหมดก่อน เพราะหากมัวแต่ลังเล หยุดรอ ความล้าหลังก็อาจจะเกิดขึ้นครับ