“ไทย-เวียดฯ”แน่นแฟ้น!! ลั่นปี 63 ดันการค้าพุ่ง 6.5 แสนล้านบ.

474

ไทยกับเวียดนาม เป็นชาติที่มีความสัมพันธ์กันมานาน ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองระหว่างประเทศ

โดยเฉพาะ โฮจิมิน หรือ ลุงโฮ บุคคลสำคัญของชาวเวียดนาม ได้เคยมาพำนักอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลาถึง 7 ปี ที่จังหวัดพิจิตร อุดรธานี จังหวัดหนองคาย และ นครพนม

หรือ “องเชียงสือ” กษัตริย์ของเวียดนาม ที่ได้เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร “พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช” เมื่อพ.ศ.2326

 

 

 

cr.ภาพ: ทำเนียบรัฐบาล

 

 

โดย ล่าสุดเมื่อ 15 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้หารือทวิภาคีกับนายเหงียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ระหว่างการประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง หรือ หรือแอคเมคส์ (ACMECS )

โดยนายกรัฐมนตรีของไทย กล่าวยินดีต้อนรับนายกรัฐมนตรีเวียดนามเข้าร่วมการประชุม แอคเมคส์ ซึ่งเป็นโอกาสอันดีที่ทุกฝ่ายจะร่วมกันหารือถึงความร่วมมือในการพัฒนาความเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อในภูมิภาคควบคู่กับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อส่งเสริมการเติบโตและความสามารถในการแข่งขันของอนุภูมิภาค ซึ่งนายกรัฐมนตรีเวียดนามได้กล่าวชื่นชมต่อการต้อนรับอันอบอุ่นของไทยและขอให้การประชุม แอคเมคส์ ครั้งนี้ประสบความสำเร็จ สำหรับความสัมพันธ์ทวิภาคี ผู้นำทั้งสองฝ่ายเล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ไทย – เวียดนาม ให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม โดยขอให้ทั้งสองฝ่ายร่วมกันสนับสนุนการจัดทำแผนหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ในอนาคต เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาความสัมพันธ์ระยะต่อไป

สำหรับความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุน ไทยและเวียดนามสนับสนุนให้ใช้การประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (JTC) ไทย – เวียดนาม ครั้งที่ 3 ซึ่งจะจัดในเดือนสิงหาคมปีนี้ หารือและแสวงหามาตรการใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันให้บรรลุเป้าหมาย 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2563 ตามที่ตกลงกันไว้ โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีเวียดนามกล่าวขอบคุณรัฐบาลที่ส่งเสริมให้ภาคเอกชนไทยเข้าไปลงทุนในเวียดนามเพิ่มมากขึ้น โดยเวียดนามยินดีดูแลดูแลและอำนวยความสะดวกแก่ภาคเอกชนไทยอย่างดี

 

cr.ภาพ: ทำเนียบรัฐบาล

 

นายกรัฐมนตรีของไทย ยังได้กล่าวถึงความพร้อมของไทยในการเป็นประธานอาเซียนในปีหน้า ซึ่งไทยพร้อมร่วมมือกับประเทศสมาชิกอาเซียนเสริมสร้างความเป็นประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และขับเคลื่อนด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ความเชื่อมโยง และความร่วมมือแห่งอนาคต เพื่อสร้างความแข็งแกร่งไปด้วยกัน

ภายหลังการหารือ นายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีเวียดนามได้ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ (MOU) 2 ฉบับ ได้แก่

1) บันทึกข้อตกลงความเข้าใจระหว่าง บริษัท ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และ สำนักงานพัฒนาการวิสาหกิจแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เพื่อส่งเสริมการสร้างธุรกิจ SMEs

 

cr.ภาพ: ทำเนียบรัฐบาล

2) บันทึกข้อตกลงความเข้าใจระหว่าง บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัทซานเกา (Xuan Cau) ของเวียดนามโดยสาระสำคัญของบันทึกข้อตกลงความเข้าใจคือ การร่วมทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์

นี่คือ มิติความร่วมมือของ “ไทยกับเวียดนาม” ที่พัฒนามากขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งจะช่วยสร้าง ความแข็งแกร่งไปด้วยกัน