เขื่อนจีนลดระบายน้ำ-คาดน้ำโขงลด1.20 ม.-กระทบไทย-ลาว-กัมพูชา

807

สวัสดีครับพบกันอีกเช่นเคยกับช่อง 1one.asia มาติดข่าวเรื่องเขื่อนจีน ที่ส่งผลกระทบต่อแม่น้ำโขงกันบ้าง ที่ล่าสุด คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ระบุว่า สถานีไฟฟ้าพลังน้ำจิ่งหง  ในมณฑลยูนนาน  จะซ่อมบำรุงโครงข่ายไฟฟ้าระหว่างวันที่ 5–24 มกราคมนี้   จะส่งผลต่อระดับน้ำแม่น้ำโขงใน ไทย  ลาว และกัมพูชา คาดว่า ระดับน้ำจะลดลงประมาณ 1.20 เมตร  เรื่องนี้น่าสนใจไปติดตามกันครับ

 

6 มกราคม 2564  มีรายงานจาก สำนักงานเลขาธิการ   คณะแม่น้ำโขง (MRCS)  ว่า  การไหลของน้ำที่สถานีไฟฟ้าพลังน้ำจิ่งหง  ในมณฑลยูนนานของจีนลดลง   เนื่องจากการซ่อมบำรุงโครงข่ายไฟฟ้าระหว่างวันที่ 5–24 มกราคม 2564 ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำในแม่น้ำโขงใน ไทย  สปป. ลาว และกัมพูชา

โดยตามประกาศของกระทรวงทรัพยากรน้ำของจีน   ที่สำนักเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRCS) ได้รับเมื่อวันที่ 5 มกราคม “การบำรุงรักษาระบบสายส่งไฟฟ้า” จะส่งผลให้การไหลของน้ำลดลงที่ 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที   ตั้งแต่วันที่ 5 ถึง 24 มกราคม 2564

ปริมาณน้ำจะค่อยๆกลับคืนสู่สถานะการทำงานปกติในวันที่ 25 มกราคม  อย่างไรก็ตามกระทรวงทรัพยากรน้ำของจีน    ไม่ได้ระบุระดับแม่น้ำ หรือปริมาณน้ำที่จะได้รับการฟื้นฟูในวันที่ 25 มกราคม

สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRCS)  ได้ตั้งสังเกตและคาดการณ์ข้อมูลระดับน้ำว่า ส่งผลให้ระดับน้ำ   ริมแม่น้ำโขงมีแนวโน้มลดลงประมาณ 1.20 เมตร

นอกจากนี้ ยังมีรายงานเพิ่มเติมว่า ที่เชียงแสน – สถานีตรวจวัดแม่น้ำโขงแห่งแรกในประเทศไทย  ซึ่งอยู่ห่างจากจิ่งหงประมาณ 300 กม. – น้ำลดลงแล้วประมาณ 2 เมตรในช่วงวันที่ 2–4 มกราคม ระดับคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยถึง 0.05 เมตรในช่วงวันที่ 5–11 มกราคมนี้

ส่วนที่ทอดยาวจากเวียงจันทน์ถึงปากซันของสปป. ลาว  รวมทั้งหนองคายของไทย จะมีระดับน้ำลดลง 0.22–0.35 เมตรในช่วงวันที่ 7–11 มกราคมนี้ ( 22 -35 เซนติเมตร)

ในแม่น้ำโขงสายหลักจากนครพนม มุกดาหาร และโขงเจียม ไปยังท่าแขก สะหวันนะเขต และปากเซ ของสปป. ลาว ระดับน้ำจะลดลงเล็กน้อย โดยแตกต่างกันระหว่าง 0.03 ถึง 0.15 เมตรในช่วงวันที่ 8–11 มกราคม

ในประเทศกัมพูชาระดับน้ำริมโขงใน จ.สตึงแตรง จ.กระแจะ  จ.กำปงจาม พนมเปญ  และเนียกเลือง ยังไม่ลดลงอย่างชัดเจน  ดร.ลัม ฮุน สง หัวหน้าศูนย์บริหารจัดการน้ำท่วมและภัยแล้งของ คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง หรือ  MRC  กล่าวเสริมว่า กิจกรรมการเดินเรือในแม่น้ำโขง โดยเฉพาะบริเวณใกล้เคียงกับจิ่งหง  อาจได้รับผลกระทบมากกว่าสถานที่อื่น ๆ ในช่วงเวลานี้

นอกจากนี้กิจกรรมหาเลี้ยงชีพในท้องถิ่นบางอย่าง เช่น การเก็บเกี่ยวสาหร่าย  และการจับปลาอาจได้รับผลกระทบด้วย

โดยภายใต้ข้อตกลงระหว่างจีน  และ คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง หรือ   MRC จีนให้คำมั่นที่จะแจ้ง MRC และประเทศสมาชิกเกี่ยวกับระดับน้ำหรือน้ำที่เพิ่มขึ้น  หรือลดลงอย่างผิดปกติ  และข้อมูลอื่น ๆ เกี่ยวกับปัจจัยที่อาจนำไปสู่น้ำท่วมฉับพลันได้

สำหรับ MRC เป็นองค์กรระหว่างรัฐบาล สำหรับการเจรจาระดับภูมิภาคและความร่วมมือในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างก่อตั้งขึ้นในปี 2538 ตามข้อตกลงแม่โขงระหว่างกัมพูชา  สปป. ลาว ไทย และเวียดนาม องค์กรดังกล่าวทำหน้าที่เป็นเวทีระดับภูมิภาคสำหรับการทูตด้านน้ำ  รวมทั้งเป็นศูนย์กลางความรู้เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของภูมิภาค

การสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง ของเขื่อนจีน  จนถึงขณะนี้จีนก็ก่อสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงเกิดขึ้นแล้วทั้งหมด 11 แห่ง  ซึ่งได้ส่งผลต่อระดับน้ำในแม่น้ำโขง  และกำลังส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของลุ่มน้ำโขงอย่างรุนแรง

โดยสถาบันชุมชนลุ่มน้ำโขง ระบุว่า   ในแง่มุมที่เกี่ยวกับระบบนิเวศ ปัญหาใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในบริเวณประเทศไทยคือ 1) การปิดกั้นเส้นทางปลา ซึ่งในจำนวนกว่า 1,200 – 1,700 ชนิดพันธุ์ของปลาแม่น้ำโขง 39% ของปลาที่จับได้เป็นปลาที่มีวงจรชีวิตต้องอพยพทางไกล  2) การเปลี่ยนแปลงการไหลของน้ำทั้งปริมาณและช่วงเวลา ปริมาณการไหลและการขึ้นลงอย่างผิดธรรมชาติจะส่งผลถึงการทำลายระบบนิเวศลุ่มน้ำและพันธุ์ปลา การกัดเซาะตลิ่งทำลายพื้นที่เกษตรและที่อยู่อาศัย การใช้น้ำเพื่อการเกษตรและอุปโภคอย่างน้ำประปา การเปลี่ยนร่องน้ำและเส้นพรมแดน  3) การปิดกั้นตะกอน ซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญมากต่อระบบนิเวศ พื้นที่ริมฝั่ง และการเกษตรริมฝั่งโขง

 

ไม่เพียงแต่เท่านั้น ประเทศอื่นๆ ที่อยู่ในน้ำโขง ยังมีแผนที่จะสร้างเขื่อนขนาดใหญ่กั้นแม่น้ำโขงตอนล่างอีก 11 เขื่อน คือของลาว ประกอบด้วย เขื่อนปากแบ่ง เขื่อนหลวงพระบาง เขื่อนปากลาย เขื่อนสะนะคาม เขื่อนปากชม เขื่อนบ้านกุ่ม เขื่อนลาดเสือ เขื่อนท้าค้อ เขื่อนดอนสะโฮง  และของกัมพูชา  ประกอบด้วย  เขื่อนสตึงแตรง  และเขื่อนซำบอ

 

คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission) ได้เคยศึกษาถึงผลกระทบของการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลัก และพบว่าการสร้างเขื่อนจะส่งผลเสียต่อระบบนิเวศ ความอุดมสมบูรณ์ และวิถีชีวิตของผู้คนในลุ่มน้ำโขงอย่างรุนแรง  เขื่อนยังขัดขวางการอพยพของพันธุ์ปลาและจะทำให้พันธุ์ปลาจำนวนมากในพื้นที่แม่น้ำโขงสูญพันธุ์

นอกจากนี้จะกระทบผู้คนกว่า 60 ล้านคนที่พึ่งพาความอุดมสมบูรณ์ของลุ่มน้ำโขงแห่งนี้ ได้แก่ ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม

และเรื่องนี้กำลังถูกหยิบขึ้นเป็นปัญหาระดับโลก เมื่อปลายปีที่แล้ว มีรายงานจาก รอยเตอร์ส ว่า   ศูนย์สังเกตการณ์เขื่อนแม่น้ำโขงของสถาบันวิจัยสติมสัน ซึ่งได้รับเงินสนับสนุนบางส่วนจากกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐเปิดตัวโครงการใช้ดาวเทียมเพื่อติดตามและตรวจสอบระดับน้ำในเขื่อนของจีนในแถบลุ่มแม่น้ำโขง  โดยโครงการดังกล่าวตรวจสอบเขื่อนอย่างน้อย 11 แห่ง    และระบุว่าเขื่อนทุกแห่งมีโครงสร้างที่ซับซ้อนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำของโรงไฟฟ้า  โดยไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบท้ายน้ำที่ต้องพึ่งพาแม่น้ำเพื่อการประมงและการเกษตร

การระดมสร้างเขื่อนของจีนกั้นแม่น้ำโขง ได้สร้างผลกระทบตามมาอย่างมาก และกำลังปะทุกลายเป็นความขัดแย้งของจีนกับประเทศลุ่มน้ำโขง    ยิ่งสหรัฐฯ  กำลังเข้ามายุ่งเกี่ยวด้วย   ก็อาจ จะกลายเป็นการเมืองระหว่างประเทศ   เป็นปัญหาซับซ้อนจนยากต่อการแก้ไขในอนาคต

และรัฐบาลไทย ก็ไม่ควรนิ่งเฉย  จนทับถมกลายเป็นปัญาใหญ่    เพราะหากน้ำในแม่น้ำโขงแห้ง  นอกจากชาวบ้านจะประสบปัญหาด้านการเกษตร  การประมง  ขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้แล้ว      ท่าเรือเชียงแสน  และท่าเรือเชียงของ  ในจังหวัดเชียงราย ที่ทุ่มทุนสร้างมหาศาล ก็ไร้ความหมายด้วยครับ

หากเพื่อนๆ เห็นว่า ข่าวนี้มีประโยชน์รบกวนกดติดตาม กดถูกใจ และกดแชร์ ด้วยครับ

 

ติดดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่
Website https://www.1one.asia/
ช่องทาง Social Media
Facebook : https://www.facebook.com/1one2018asia
youtube:1one